ผู้ว่าฯ สระแก้ว ออกคำสั่งฉบับที่ 24 กระชับมาตรการต่างๆ ที่จำเป็น ไม้ให้ COVID–19 เกิดการระบาดลุกลามเป็นวงกว้าง
นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสระแก้ว ได้ออกคำสั่งจังหวัดสระแก้ว เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ฉบับที่ 24
จังหวัดสระแก้ว มีคำสั่งกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรี หรือตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) (ศบค.) กำหนด แต่ด้วยปัจจุบันพบการระบาดระลอกใหม่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการกระชับมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อเข้าแก้ไขสถานการณ์มิให้เกิดการระบาดลุกลามเป็นวงกว้างต่อไป โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสระแก้ว ในคราวการประชุมครั้งที่ 16/2564 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 จึงยกเลิกคำสั่งจังหวัดสระแก้ว ที่ 0001/2564 ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 และออกคำสั่งฉบับที่ 24 แทน ดังนี้
ข้อ 1 การห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค
(1) ห้ามประชาชนใช้ เข้าไป หรืออยู่ในพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค เพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ของโรค
(2) ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท
เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
ก. เป็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
ข. เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรือให้การอุปการะแก่บุคคล
ค. เป็นการจัดกิจกรรรมของทางราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว
ง. ให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเปิดการเรียนการสอนได้ โดยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ต้องดำเนินการจัดรูปแบบการเรียนการสอน สถานที่ รวมทั้งบุคลากร และเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อม สอดคล้องกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการติดโรค การแพร่เชื้อ และความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ
ข้อ 2 การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของต่างๆ กิจกรรมการแข่งขันกีฬาในลักษณะที่เล่นเป็นทีมและมีการสัมผัสระหว่างกัน เว้นแต่
(1) เป็นการดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่
(2) เป็นการจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรคโดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ
(3) เป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นและได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามหลักเกณฑ์ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสระแก้วกำหนด ดังนี้
ก. แสดงแผนการจัดกิจกรรมและมาตรการควบคุมโรคต่อนายอำเภอท้องที่ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนจัดกิจกรรม เพื่อพิจารณาว่าเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดหรือไม่ ก่อนอนุญาตให้ดำเนินการ แล้วให้นายอำเภอรายงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสระแก้วทราบ พร้อมทั้งกำกับ ดูแล ว่าการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัดหรือไม่
ข. จำกัดเวลาการจัดกิจกรรม ไม่เกินเวลา 21.00 น. ทุกกิจกรรม
ค. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนไม่เกิน 100 คน
ง. การจัดกิจกรรมทุกประเภท ห้ามการบริโภคสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
(4) ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะ
ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เว้นแต่การทำกิจกรรมของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย หรือการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถาน
ข้อ 3 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ดังนี้
(1) สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ
(2) โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ
(3) สนามมวย หรือสถานที่ฝึกซ้อมมวย.สนามชนไก่ หรือสถานที่ซ้อมไก่.สนามชนโค สนามกัดปลา หรือสนามการแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน
(4) สวนน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสัตว์ สวนสนุกให้รวมถึงการใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นการติดตั้งชั่วคราวหรือเครื่องเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสมาก ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคในเด็ก เช่น บ้านบอล บ้านลม ทั้งที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ตลาด ตลาดนัด หรือห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือสถานที่อื่น ๆ ด้วย
(5) สวนสาธารณะ ลาน – พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา สระว่ายน้ำ สระว่ายน้ำสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส
(6) โต๊ะสนุกเกอร์ และบิลเลียด
(7) ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต สถานที่เล่นตู้เกมและเครื่องเล่นหยอดเหรียญ ทั้งที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าและนอกห้างสรรพสินค้า
(8) คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถาบันเสริมความงาม สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย
(9) สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการนวดแผนไทย สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด
ข้อ 4 เงื่อนไขการเปิดดำเนินการ ให้สถานที่ กิจการ หรือการทำกิจกรรม ดังต่อไปนี้
เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลาและการจัดระบบและระเบียบต่างๆ ที่กำหนด
(1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด โดยห้ามนั่งบริโภค
ในร้านระหว่างเวลา 21.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยให้เป็นลักษณะของการจำหน่ายแล้วนำกลับไปบริโภคที่อื่น
(2) การจำหน่ายสุรา สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่ซึ่งจำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
(3) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดทำการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ ภายใต้การดำเนินการมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
(4).ตลาดและตลาดนัด ให้เปิดได้โดยต้องควบคุมทางเข้าออก จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ให้และผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัย จัดให้มีจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่างในการเลือกซื้อสินค้าและการชำระราคา และมีการติดตั้งแอปพลิเคชัน“ไทยชนะ” หรือสมุดลงทะเบียน
ข้อ 5 การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด
(1) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจและคัดกรองการเดินทางโดยใช้เส้นทางคมนาคมข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะการเดินทางของบุคคลจากเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดทั้งนี้ ให้มีการบันทึกข้อมูลให้สามารถสืบค้นได้และดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
(2) ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดเว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเป็นกรณีการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตรที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ การปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับระบบสื่อสารโทรคมนาคม สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเข้ารับการตรวจคัดกรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด อันอาจทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและทำให้ต้องใช้ระยะเวลาการเดินทางมากกว่าปกติ
ข้อ 6 ให้งดการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว โดยให้นายจ้าง สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าว กำกับดูแลและควบคุมแรงงานต่างด้าว มิให้แรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้าย เดินทางเข้า – ออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงาน
ข้อ 7 ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณารูปแบบการปฏิบัติงานในช่วงระยะเวลานี้ ซึ่งอาจเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือการสลับวันหรือการเหลื่อมเวลาเข้าปฏิบัติงาน
เพื่อลดจำนวนผู้ปฏิบัติงานและปริมาณการเดินทางซึ่งเป็นไปตามมาตรการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ข้อ 8 มาตรการป้องกันโรค ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา สถานประกอบการและโรงงานทุกแห่ง รวมไปถึงเจ้าของ ผู้จัดการสถานที่หรือผู้จัดให้มีกิจกรรมใด ๆ ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากหรือร่วมกิจกรรมลักษณะที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิด สัมผัสและแพร่เชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)
จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้ร่วมกิจกรรมนั้น ๆ ดังต่อไปนี้
(1) อำนวยความสะดวกในการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อยหนึ่งเมตร และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัด
(2) ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
(3) จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
(4) บริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ
(5) จัดให้มีทางเข้า – ออก ชัดเจน และมีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ ด้วยการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” หรือสมุดลงทะเบียน
(6) ขอความร่วมมือให้ประชาชนติดตั้งและใช้ระบบแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ควบคู่กับการใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ”
(7) จัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนทำกิจกรรม รวมทั้งระหว่างและภายหลังการทำกิจกรรมด้วย
ข้อ 9 ให้ส่วนราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีหรือตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) หรือคำสั่งจังหวัดสระแก้วโดยเคร่งครัด
ทั้งนี้ รัฐบาลมีเจตจำนงที่ชัดเจนและเด็ดขาดในการดำเนินการปราบปรามและลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งบุคคลใดก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างประเทศโดยมิได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบ การคัดครองโรค และการกักกันตัวตามมาตรการทางสาธารณสุข รวมทั้งการปล่อยปละละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้ออำนวยหรือสมรู้ร่วมคิดให้มีการเปิดบ่อนการพนันขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อนจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งได้สั่งการและกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจร่วมตรวจสอบเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินการลงโทษตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว รวมทั้งจะได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการและเสนอมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อีกต่อไป
นอกจากนี้ยังสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หากพบเห็นการกระทำหรือการปล่อยปละละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายและส่งผลกระทบเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรงสามารถแจ้งเบาะแสมาที่นายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 ทำเนียบรัฐบาล
ข้อ 10 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบการจัดกิจกรรม และการดำเนินการของเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ข้างต้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด หากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลาให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ของโรค รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวได้
ข้อ 11 คำสั่งใดขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้ใช้คำสั่งนี้แทน
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ มีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2564 เป็นต้นไป