จังหวัดสระแก้วพบผู้ป่วยไข้เลือดออกทุกอำเภอ หวั่นปีนี้จะระบาดหนัก เร่งกำจัดลูกน้ำยุงลาย
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เผยสถานการณ์ไข้เลือดออกต้นปีพบผู้ป่วยแล้ว 113 รายในทุกอำเภอ ทั้งที่ไม่ใช่ช่วงของการระบาดปกติ หวั่นกลางปีผู้ป่วยพุ่งสูง สั่งการให้ประเมินความเสี่ยงของพื้นที่และให้ทุกตำบลจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมกำจัดลูกน้ำยุงลายเป็นประจำ
นายแพทย์สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2562 พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นทั้งจังหวัด 9 อำเภอ 29 ตำบล จำนวน 113 ราย อัตราป่วย 20.11 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรกที่ อำเภอเมืองสระแก้ว มีอัตราป่วย 59.39 ต่อแสนประชากร รองลงมาได้แก่ อำเภอโคกสูง (25.79) และ อำเภอตาพระยา (15.74) ต่อแสนประชากร ตามลำดับ กลุ่มอายุที่พบสูงสุดจะเป็นช่วงวัยเรียน คือ อายุ 10 - 14 ปี รองลงมาได้แก่ อายุ 5 - 9 ปี และ 0 - 4 ปี
ข้อมูลผู้ป่วยล่าสุดเฉพาะเดือนมีนาคม 2562 (ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 12 มี.ค.62) จังหวัดสระแก้วพบผู้ป่วยแล้ว 18 ราย ซึ่งสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง 7 ราย และสูงกว่าค่าเป้าหมายปี 62 ถึง 9 ราย ที่น่าสนใจคือ อำเภอเมืองสระแก้ว พบผู้ป่วยสูงถึง 66 ราย มากกว่า 2 ตำบล โดยเฉพาะที่ตำบลท่าเกษมและตำบลสระแก้ว ในขณะที่อำเภออื่นพบผู้ป่วยประปราย จากข้อมูลดังกล่าวทำให้จังหวัดสระแก้วพบผู้ป่วยอยู่ในลำดับที่ 20 ของประเทศ และอันดับ 5 ของเขตสุขภาพที่ 6 (ภาคตะวันออก)
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวอีกว่า ในปี 2562 คาดการณ์ว่าจังหวัดสระแก้วจะมีไข้เลือดออกระบาดมาก เพราะพบผู้ป่วยช่วงต้นปีค่อนข้างสูง ทั้งที่ไม่ใช่ช่วงของการระบาดปกติ อีกทั้งขณะนี้ยังพบมีพื้นที่สีแดงกว่า 21 ตำบลในทุกอำเภอ ดังนั้นจึงได้สั่งการให้ทุกอำเภอมีการประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ และกำหนดให้ทุกตำบลจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกเดือน ในเดือนมีนาคม กำหนดจัดระหว่างวันที่ 11- 17 มีนาคม 2562 เพื่อไม่ให้มีดัชนีลูกน้ำยุงลายเกินร้อยละ 5 นอกจากนี้ ปัจจุบันพบโรคในผู้ใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าวัยอื่นๆ ถึง 10 เท่า ทั้งนี้ ในโรงพยาบาลที่กำลังจะมีแพทย์จบใหม่มาปฏิบัติงาน จะใช้ระบบการจับคู่พี่เลี้ยงให้กับแพทย์จบใหม่เนื่องจากยังไม่คุ้นเคยกับโรค รวมถึงประสานความร่วมมือไปยังร้านขายยาและคลินิกต่างๆ ในจังหวัดให้เฝ้าระวังเช่นกัน เพราะพบข้อมูลว่า มีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ไปซื้อยากินเองโดยที่ไม่ทราบว่าติดเชื้อไข้เลือดออก ทำให้อาการโรครุนแรงขึ้น หรือเสียชีวิต เพราะไปรักษาช้า
"ดังนั้น ต้องมีการสังเกตอาการผู้ป่วย หากสงสัยต้องส่งตรวจเลือด และระวังการจ่ายยา กลุ่มเอ็นเสด แอสไพริน เพราะจะทำให้โรครุนแรงขึ้น หากพบผู้ป่วยต้องรีบรายงานข้อมูลเข้าระบบ เพื่อให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่เข้าไปยังบ้านที่มีผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้เสร็จภายใน 1 วัน และติดตามต่อเนื่องอีก 28 วัน" นพ.สุภโชค กล่าว